รีเซต

รู้จัก โรคไบโพลาร์ เตรียมรับมือ กับ ราม หนุ่มอารมณ์รุนแรง จากละคร สามี

รู้จัก โรคไบโพลาร์ เตรียมรับมือ กับ ราม หนุ่มอารมณ์รุนแรง จากละคร สามี
6 มกราคม 2557 ( 14:32 )
6.8K

วันนี้มารู้จักกับ โรคไบโพลาร์ หรือ อาการคนสองบุคลิก โรคที่ ราม จากละคร สามี เป็นอยู่ในขณะนี้ โดย อเล็กซ์ เรนเดล จะต้องถ่ายทอดอาการของคนที่เป็นโรคนี้ในละคร ซึ่งถือเป็นการพลิกบทบาทของอเล็กซ์กันเลยทีเดียว

 

ไบโพลาร์ คือ โรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็น 2 ขั้ว มีทั้งช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และบางช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) ฉะนั้นเดิมจึงเรียกโรคนี้ว่า manic-depressive disorder แต่บางคนมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติอย่างเดียว โดยไม่มีอารมณ์ซึมเศร้าก็ได้


ไบโพลาร์เกิดได้อย่างไร โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่น จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดมักเป็นเพียงปัจจัยเสริม

และถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาการต่างๆ อาจจะดีขึ้นเองได้ในบางคน แต่ต้องใช้เวลานาน และกว่าอาการจะดีขึ้น ก็ส่งผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง บางคนก่อหนี้สินมากมาย บางคนใช้สารเสพติด บางคนต้องออกจากงานหรือโรงเรียน บางคนทำผิดกฎหมาย และที่รุนแรงที่สุด คือฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น และถ้าเป็นหลายๆ ครั้ง อาการครั้งหลังจะเป็นนานและถี่ขึ้น

 

การรักษาโรคนี้  แพทย์จะให้ยาและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการใน 2-8 สัปดาห์ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนก่อนป่วย แต่ในบางรายอาจต้องให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อขจัดความเครียด และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด

การปฏิบัติตัว
1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุรา สารเสพติด
3. กินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ามีปัญหาผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง
4. หมั่นสังเกตอารมณ์ของตน เรียนรู้อาการแรกเริ่มของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
5. บอกคนใกล้ชิดถึงอาการเริ่มแรกของโรค ให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์

การช่วยเหลือผู้ป่วย
1. เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นการเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย
2. ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
3. สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมาก
4. ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย ถ้าเห็นว่าผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอีก
5. เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน และไม่หยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์

สรุปว่าโรคนี้รักษาหายได้ และสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ตามเดิม เมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ติดต่อได้ตามสถานพยาบาลทั่วประเทศ หรือที่หน่วยตรวจโรคจิตเวชศาสตร์ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 7 รพ.ศิริราช เวลา 08.30-16.00 น.โทร. 0-2411-3405, 0-2419-7373



ชมทีวีออนไลน์ช่อง 3 แบบสดๆ ได้ที่นี่