รีเซต

6 พระเอก กับ 6 เรื่องราว ในละครชุดเทิดพระเกียรติ "พ่อ" ที่ยังตราตรึงคนไทยทั้งชาติ

6 พระเอก กับ 6 เรื่องราว ในละครชุดเทิดพระเกียรติ "พ่อ" ที่ยังตราตรึงคนไทยทั้งชาติ
Pannaput_tvs
17 ตุลาคม 2559 ( 18:21 )
12.4K

แม้จะผ่านมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี แล้วสำหรับละครเรื่อง “พ่อ” ซึ่งเป็นละครชุดเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2542 ละครชุดเรื่อง “พ่อ” แบ่งออกเป็น 6 ตอน นำแสดงโดย นพพล โกมารชุน, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, สรพงศ์ ชาตรี, ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และวิลลี่ แมคอินทอช โดยนักแสดงทั้ง 6 คนจะเป็นตัวละครหลักในการถ่ายทอดเรื่องราวของ 6 คนธรรมดาที่ได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้ชีวิตตามคำสอนของในหลวง โดยละครเรื่อง “พ่อ” กำลังฉายที่ช่องเวิร์คพอยท์ (ช่อง 23) ในขณะนี้ นอกจากความอมตะของเรื่องราว ที่ทำให้ละครชุดนี้เข้าไปอยู่ในใจของผู้คนตลอดกาลแล้วนั้น ยังได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช อีกด้วย

ล่าสุดคุณประภาส ชลศรานนท์ ผู้เขียนบทละครได้ออกมาเผยถึงเบื้องหลังการเขียนบทละครเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊คของตนเอง Prapas Cholsaranon  เรื่อง “การกลับมาฉายของละครพ่อ” ว่า “ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งทึ่ง ขนลุก และภูมิใจที่ได้เกิดในแผ่นดินของพระองค์ เพราะว่าตนเองต้องอ่านหนังสือ ลงพื้นที่เพื่อค้นคว้าจากโครงการพระราชดำริ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในโครงการด้วยตนเองทั้งหมด เนื่องจากตอนนั้นยังไม่สามารถหาข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ต และช่วงถ่ายทำละครชุดเรื่องนี้ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุด เป็นทั้งความสุขและความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต อีกทั้งยังเผยคนบันเทิงทุกสาขานั้นพร้อมใจมาร่วมในงานละครชุดนี้ ไม่ว่าจะมีบทบาทในละครมากน้อยแค่ไหนก็ยินดีและเต็มใจรับเล่นกันหมดเมื่อมีการทาบทามติดต่อไป การทำงานในครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นตาน้ำของแรงบันดาลใจให้กับทุกคนอย่างแท้จริง”

การกลับมาฉายของละครพ่อ

มาพร้อมกับการบังเอิญเจอแฟ้มของโครงการละครเรื่องนี้เมื่อ17ปีที่แล้วในเช้าวันนี้อย่างไม่น่าเชื่อ

ผมยังจำช่วงเวลาที่เขียนบทละครเรื่องนี้ได้ดี ละครเทิดพระเกียรติชุดนี้นับเป็นเรื่องแรกๆในโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวของคนธรรมดาที่ไม่ใช่ทหารหาญ ไม่ใช่วีรบุรุษ แต่เป็นเรืองราวของผู้คนทั่วๆไปที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิตจากคำสอนของในหลวงของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

พวกเรารวมกลุ่มกันสี่ห้าคนเพื่อทำการเขียนบทโดยใช้ชื่อกลุ่มว่ากลุ่มกระดาษพ่อดินสอแม่
แยกย้ายกันไปค้นคว้าข้อมูล ทั้งจากโครงการในพระราชดำริ ทั้งพระบรมราโชวาทที่ตรัสไว้ และพระราชนิพนธ์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ

ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งทึ่ง ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งขนลุก ยิ่งอ่านข้อมูลก็ยิ่งรู้สึกภาคภูมิใจที่เกิดในแผ่นดินของพระองค์ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที๋8นิพนธ์%8้ พระองค์ทรงงานมากมายเพื่อคนไทยจริงๆ

ในยุคนั้นยุคที่ยังไม่สามารถค้นหาอะไรได้จากอินเตอร์เน็ต ผมจำได้ว่าพวกเราต้องอ่านหนังสือกันมิรู้กี่เล่มต่อกี่เล่ม เดินทางไปหอสมุดต่างๆ รวมไปถึงเดินทางไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ทุกครั้งที่มีการประชุมบท โต๊ะประชุมของพวกเราจะเต็มไปด้วยกองหนังสือที่จะนำมาใช้อ้างอิงในบทละคร พวกเราตั้งใจจะเขียนบทให้ออกมาสมจริงและมีความถูกต้องของข้อมูลมากที่สุด

ในที่สุดเราก็เลือกเรื่องที่จะนำเสนอ 6 เรื่อง ผ่านการแสดงของพระเอก 6 คน
รูปถ่ายที่ผมค้นเจอในวันนี้ เป็นรูปถ่ายที่ถ่ายกันในสตูดิโอก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำละคร

เรื่องที่ 1 “วัคซีน” สรพงษ์ ชาตรีแสดงเป็นหมอเลิศ ผอ.โรงพยาบาลในถิ่นธุรกันดารที่ต้องต่อสู้กับโรคเรื้อนที่กำลังระบาดอย่างไม่ย่อท้อ เพราะเคยตามเสด็จฯเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนแพทย์ และได้เห็นการทรงงานและพระวิริยะของพระองค์

เรื่องที่ 2 “เพลงของพ่อ” นพพล โกมารชุน แสดงเป็นสม นักดนตรีวงลูกทุ่งที่ประสบความล้มเหลวในชีวิตทั้งหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับลูกชาย และสุดท้ายเขาก็กลับมายืนขึ้นได้อีกครั้งเพราะเพียงแค่พระบรมฉายาลักษณ์ที่กำลังทรงดนตรีและที่สำคัญที่สุดจากเพลงพระราชนิพนธ์

เรื่องที่ 3 “ชีวิตที่พอเพียง” ศรัณยู วงศ์วงกระจ่าง แสดงเป็นชูชีพ นักธุรกิจหนุ่มที่ขยายงานอย่างไม่ดูกำลังตัวเอง จนพบกับการล้มครืนของเศรษฐกิจทั้งประเทศ และในที่สุดด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ก็นำเขาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งกับงานและครอบครัวได้อย่างงดงาม

เรื่องที่ 4 “ถั่วแดงหลวง” ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง แสดงเป็นยอธะยี ม้งหนุ่มที่หาญกล้าลุกขึ้นต่อกรกับการรังแกของนายทุน วิธีตาต่อตาฟันต่อฟันของเขาเกือบนำไปสู่โศกนาฎกรรมระหว่างชาวเขาและชาวเมือง แต่แล้วถั่วแดงที่ในหลวงพระราชทานให้กับชาวไทยภูเขาได้ทำให้ความสงบสุขกับคืนมาสู่คนภูเขาอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ

เรื่องที่ 5 “เทียนขี้ผึ้ง” พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง แสดงเป็นแสน แท็กซี่ผู้ต่อสู้กับวิกฤติชีวิตที่ถาโถม เขาพยายามหล่อเทียนพรรษาเพื่อทำบุญตามคำแนะนำของญาติมิตรเพื่อเป็นเคล็ดในการรักษาอาการประหลาดของลูกชายที่ไม่ยอมพูด และยิ่งเมื่อเขารู้ว่าแม้แต่เทียนพรรษาของในหลวงยังหล่อเองในสวนจิตรฯ เขาจึงเริ่มเรียนรู้การทำเทียน และเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งไปพร้อมๆกับเรียนรู้ปรัชญาชีวิตบทสำคัญจากพระราชจริยวัตรของในหลวง

เรื่องที่ 6 “ความฝันอันสูงสุด” วิลลี่ แม็คอินทอช แสดงเป็นเมทิศ นักบินหนุ่มทหารของพระราชาผู้แสดงความกล้าหาญอย่างแท้จริง ความกล้าหาญที่มิใช่การรบกับศัตรู แต่เป็นการรบกับตัวเองด้วยการยอมรับความผิดในเหตุการณ์เครื่องบินรบตก และด้วยแรงบันดาลใจจากเพลงพระราชนิพนธ์เพลงหนึ่งและการเข้าไปรับรู้ถึงโครงการฝนหลวง พระปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะต่อสู้กับศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของประเทศ นั่นคือความยากแร้นของประชาชน

ช่วงที่ทำละครชุดนี้ ผมจำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ผมตั้งใจจะอยู่ในทุกขั้นตอนของการผลิต นับแต่การหาข้อมูล คัดเลือกนักแสดง เขียนบท ตัดต่อ ทำเพลงประกอบ ต้องนับว่าเป็นความสุข เป็นความทรงจำ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดในชีวิต

สิ่งที่ดีกว่าอะไรทั้งหมดก็คือ ในประเทศนี้ทุกครั้งไม่ว่าจะติดต่อใครเพื่อชักชวนมาร่วมงานนี้ ทุกคนจะแสดงอาการดีใจและตอบรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ต่อให้มีบทในเรื่องเพียงน้อยนิด นักแสดงแทบทุกคนก็อยากร่วมแสดงด้วย ผมเชื่อว่าทุกคนและทุกอาชีพคงคิดเหมือนกันหมด นั่นคือเมื่อมีโอกาสที่จะทำงานในสายอาชีพตัวเองเพื่อถวายพระองค์ท่านได้ ทุกคนจะไม่รีรอเลย

ผมรู้จักผู้คนมากมายที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนในสายอาชีพของตัวเอง แผ่นดินของเรา สายน้ำแห่งแรงบันดาลใจจำต้องไหลรินต่อไป เพื่อให้ผู้คนได้ดำรงชีวิตอย่างมีค่า และดีที่สุดคือการมีค่าต่อคนอื่น

ตลอดทั้งชีวิตที่ผมทำงานร่วมกับคนอันหลากหลาย ผมได้พบว่าผู้คนซึ่งเป็นแรงบันดาลใจเหล่านั้น แทบทุกคนล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน

พระองค์ทรงเป็นตาน้ำของแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากเฟซบุ๊ค  Prapas Cholsaranon
อัพเดทชีวิตคนดัง ครบครันเรื่องบันเทิง เพลิดเพลินไปกับบทละคร
เรียบเรียงข้อมูลโดยทีมงาน dara.truelife.com