รีเซต

ดีต้องชม!! สรรัตน์ คนเขียนบท นาคี กล่าวจากใจ บุพเพสันนิวาส ละครน้ำดีที่คนไทยต้องดู

ดีต้องชม!! สรรัตน์ คนเขียนบท นาคี กล่าวจากใจ บุพเพสันนิวาส ละครน้ำดีที่คนไทยต้องดู
Entertainment Report_1
7 มีนาคม 2561 ( 17:48 )
10.7K

วินาทีนี้  “บุพเพสันนิวาส” ถูกพูดถึงไปทั่วประเทศ ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนานแถมแทรกเกร็ดความรู้เกือบทุกตอนที่ออนแอร์ เหตุการณ์ฟีเวอร์ครั้งนี้เหมือนคราวที่ละคร นาคี ออนแอร์เมื่อปีก่อน นอกจากจะทำคนดูติดงอมแง่มแล้วยังสร้างกระแสให้คนหันกลับมาดูละครไทย รวมถึงวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกด้วย ล่าสุด สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้เขียนบทโทรทัศน์ นาคี ออกมากล่าวถึงชื่นชมความปังของละคร บุพเพสันนิวาส ว่า

 

“กระแสปังสนั่นเมืองของ #บุพเพสันนิวาส ทำให้เกิดความคึกคักในวงการละครขึ้นมาทันที จากบทประพันธ์ของ #รอมแพง ที่ถูกอกถูกใจนักอ่านยุคใหม่ สู่บทละครโทรทัศน์โดยนักเขียนบทมือทอง อ.ศัลยา ที่ฝากผลงานปังๆ มาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ทำให้ตัวละครในเรื่องนี้ออกมาโลดแล่น และมีลมหายใจบนหน้าจอ ปลุกกระแสผู้ชมให้หันมาสนใจละครยุคดิจิทัลอีกครั้ง

ละครบุพเพสันนิวาสพาผู้ชมหวนกลับไปให้คุณค่าแก่อดีต เป็นการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ท่ามกลางปรากฏการณ์โหยหาอดีต (Nostalgia) ในสังคมไทย ตัวละครอย่าง #เกศสุรางค์ ได้พาคนดูหวนกลับสู่อดีตตามความเชื่อในคติพุทธเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือวัฏสงสาร (Cyclical) ที่แทรกซึมอยู่ในชีวทัศน์แห่งการถวิลหาอดีตของคนไทย

ด้วยชั้นเชิงการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่สามารถจับต้องได้ ทำให้ละครเรื่องนี้มีเสน่ห์น่าหลงใหล เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้เห็นบุคคลสำคัญอย่าง ท้าวทองกีบม้า ฟอลคอน โกษาฯ (ปาน) โกษาฯ (เหล็ก) ศรีปราชญ์ ฯลฯ ที่เคยเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ (มีจริงหรือไม่นั้นอีกเรื่อง) ผ่านสายตาตัวละครเอกของเรื่อง ความพึงพอใจในการรับชมเรื่องราวในอดีตที่ผ่านพ้นมาแล้วโดยผ่านกระจกมองย้อนหลัง (rear-view mirror) ทำให้เกิดภาพทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมในการสร้างความรู้สึกร่วมต่อหน้าประวัติศาสตร์ว่าเราเคยเป็นอยู่อย่างไร และเราได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ?

การถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในยุคพระนารายณ์มีความยากลำบากและกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ในการเล่าเรื่องหลายประการ จากเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันอยู่หลายแห่ง ผู้เล่าเรื่องจึงจำเป็นต้อง “เลือก” ที่จะเล่าบางอย่าง ซึ่งถือเป็นความยาก และต้องอาศัยความ “ลุ่มลึก” และ “แม่นยำ” ในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์อย่างมาก

แต่สิ่งสำคัญของความเป็น “ละคร” คือความบันเทิง การนำตำรับตำราข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆมา “ย่อย” แล้วสอดแทรกในละครบุพเพสันนิวาสนั้น อ.ศัลยาทำได้อย่างมีชั้นเชิง กลมกล่อม และ “เนียน” ลงตัว เราจึงไม่รู้สึกติดขัดกับคำพูดตามยุคสมัยของตัวละคร รวมทั้งเข้าใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การรับรู้ และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่ข้าม “เวลา” และ “สถานที่” มาพบกัน และนี่คือความอัศจรรย์ของการเล่าเรื่องซึ่งเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของ อ.ศัลยา

ปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมโซเชียลทั้งแฮชแท็ค มีม (Meme) หรือไวรัลต่างๆ ตลอดจนการเดินทางไปท่องเที่ยวยังโบราณสถานตามรอยละครที่จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างล้นหลาม เป็นการสร้างชุมชนในจินตนาการ (Imagined community) หรือพื้นที่แห่งการโหยหาอดีตในระดับสังคม ไม่ต่างจากการที่ผู้ชมหลั่งไหลไปคำชะโนด เพราะกระแสละคร #นาคี ทำให้เราได้เห็นถึงพลานุภาพของละครโทรทัศน์ในการสร้างความรู้สึกและสำนึกร่วมกันในสังคม เป็นการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นชุมชนร่วมกันผ่านเรื่องเล่าในรูปแบบของละครโทรทัศน์ซึ่งน่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง

ร่ายมาเสียยืดยาวยิ่งกว่า #มนต์กฤษณะกาลี สรุปสั้นๆก็คือ… คืนนี้ อย่าลืมดู #บุพเพสันนิวาส กันนะออเจ้า เรื่องราวกำลังเข้มข้นทีเดียวเจียว…
#ละครไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก”  >> (เรื่องย่อ บุพเพสันนิวาส)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/soraratj

อัพเดทชีวิตคนดัง ครบครันเรื่องบันเทิง เพลิดเพลินไปกับบทละคร ติดตาม Dara.trueid.net ได้อีกช่องทางที่ TrueID App  หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID