รีเซต

พัฒน์ฑริก มีสายญาติ ทำทุกอย่างด้วยใจ ไม่ได้ทำด้วยการค้า เพื่อ ศรีอโยธยา

พัฒน์ฑริก มีสายญาติ ทำทุกอย่างด้วยใจ ไม่ได้ทำด้วยการค้า เพื่อ ศรีอโยธยา
Entertainment Report_1
11 กรกฎาคม 2560 ( 17:20 )
1.5K

เมื่อหม่อมน้อย (ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล) ตัดสินใจที่จะสร้างศรีอโยธยา ให้เป็นภาพยนตร์ซีรีส์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ การออกแบบฉาก งานโปรดักชั่นต่างๆ จึงต้องเป็นระดับเดียวกับภาพยนตร์ ผู้ที่หม่อมน้อยไว้วางใจให้รับหน้าที่นี้ คือ คุณพัฒน์ทริก มีสายญาติ Production Designer ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานกว่า 30 ปี

จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

คุณพัฒน์ทริกเริ่มต้นจากการเป็น Art director ของหนังฮอลลีวู้ดเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จบนเวทีประกวดมากมายอย่าง The Killing Field ที่มาถ่ายเมืองไทย ( หนังได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในปี 1984 ถึง 7 รางวัล โดยสามารถคว้ามาได้ 3 รางวัล และกวาดรางวัล British Academy Film Awards มากถึง 8 รางวัล รวม Best Production Design )

“ตอนนั้นเค้าต้องการอาร์ตได ไปช่วยอาร์ตไดของเค้านะครับ อาร์ตไดนี่ก็เป็นลูกน้อง Production Designer อีกสเต็ปนึง พอเข้าไปช่วยก็หลงรักมันเลย เพราะจริงๆแล้วเนี่ยพี่หลงรักการทำละครหรือการทำหนังสั้นตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ก็เคยทำหนังสั้นกับเพื่อน ทำละครกับเพื่อนมาตลอดเราก็เลยได้รับเลือกเข้าไปช่วยโดยที่ โดยเส้นเอาเข้าไปน่ะแหละฮะ คุยกับฝรั่งวันแรกเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แปลไม่ทันเลย yes yes yes yes ไปก่อนเค้ายังรับเลย ถือว่าเป็นตัวชี้นำให้พี่เข้ามาสู่วงการภาพยนต์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาครับ หลังจากนั้นก็ดังขึ้นมาโดยบังเอิญเพราะว่าคนที่ทำหนังร่วมกับ Killing Field ในสมัยนั้น เดี๋ยวนี้ก็เป็นผู้ใหญ่ในวงการกันแล้วทั้งนั้น เช่น คุณเล็ก บุรณี (หมายถึงคุณบุรณี รัชไชยบุญ) หรือแม้กระทั่ง สมพล สังขะเวส ก็ไปซะแล้ว นิวัติ สำเนียงเสนาะ ก็ไปแล้ว เหลือพี่ที่ยังอยู่ แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ จนระยะหลัง หนังที่ใหญ่ๆ ก็น่าจะเป็น Scorpion King (ปี 2002), Stealth (ปี 2005), Human Trafficking (ปี 2005) แล้วก็หนังซีรีส์เยอรมันเกี่ยวกับเรือมหาสมบัติอะไรทั้งหลายแหล่นะฮะ”

ร้าน Brown Sugar อีกความสำเร็จของชีวิต  

หลังจากนั้น คุณพัฒน์ทริกก็หันมาเปิดร้านอาหารกึ่งผับชื่อ Brown Sugar ที่ถนนสารสิน ซึ่งกลายเป็นร้านที่เป็นศูนย์รวมของคนทำหนังทุกคนในยุคนั้น “ตอนนั้นทำ Killing Field เสร็จก็ทำหนังอีกเรื่อง 3 ปีพี่ก็มาเปิด Brown Sugar อยู่ที่ถนนสารสิน Brown Sugar เนี่ยสมัยก่อนผู้ที่ทำหนังทุกคนเนี่ยต้องไปนั่งที่ร้านพี่หมด ใครไม่ไปร้านพี่เชย พวกผู้กำกับหนังไทยใหญ่ๆทั้งหลายแหล่เป็นเพื่อนพี่หมดก็คือ มานพ อุดมเดช พี่เชิด ทรงศรี หม่อมน้อย พี่ได้รับชวนให้เข้าไปช่วยงานทำละครของสองแปด เรื่อง “แฮมเล็ต” พี่ก็ทำอยู่กับสองแปด มานานพอสมควร เรื่องแฮมเล็ต กับพี่น้อย เรื่อง Man of Lamancha กับพี่หง่าว (ยุทธนา มุกดาสนิท) ก็เลยทำให้พี่รู้สึกว่า เป็นเพื่อนพี่น้อยแล้ว ก็ได้รับการชวนเข้ามาทำภาพยนตร์ตั้งแต่แรก ก็เลยทำกับหม่อมน้อยมาตลอดครับ”

ตลอด 30 กว่าปีที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ คุณพัฒน์ทริกก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานร้าน Brown Sugar ไปพร้อมๆ กัน “Brown Sugar The Jazz Pub and restaurant ร้านเก่า ได้รับเลือกให้เป็น One of The Best Bar of the World พอร้านเรามันดังเนี่ย นักดนตรีมันมาหาเอง มาให้เลือก อยากเล่นที่ร้านเรา แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีนักดนตรีอีกหลาย 10 วงที่อยากจะเล่นที่ร้านแต่ไม่สามารถเล่นได้ เพราะว่าเราคัดอย่างสุดยอดมาแล้วอยู่ที่ร้านมันเต็มเท่านั้นแหละฮะ”

ด้วยเหตุนี้ คุณพัฒน์ทริกจึงได้ขยับขยายร้านไปอยู่ที่ถนนพระสุเมรุใช้ชื่อว่า Brown Sugar The Jazz Boutique และเปิดร้าน Art Café by Brown Sugar ที่หอศิลป์ โดยจุดเด่นของร้าน Art Café by Brown Sugar คือจะเป็นร้านที่แสดงงานศิลป์ด้วย “อันนี้เป็นพวกรูปศิลปินเค้าอยากแสดงงาน เค้าก็หมุนเวียนกันไปแสดงงานที่นี่ มันก็เหมาะกับบรรยากาศดีงานแสดงศิลปะในหอศิลป์”

คุณพัฒน์ทริกย้ำว่า เคล็ดลับความสำเร็จนั้น ความจริงมันไม่ได้มีเคล็ดลับอะไร เพียงแต่ว่าใจคุณต้องรักมันแล้วก็ทำมันด้วยใจ ไม่ได้ทำกันด้วยการค้า “การค้านี่กับใจเนี่ย การค้ายังรองด้วยซ้ำ เพราะงั้นถ้าเรามีใจอยู่กับมันตลอดเวลาเนี่ย มันก็อยู่กับเราตลอดเวลา”

ครั้งแรกกับการทำภาพยนตร์ซีรีส์เพื่อฉายทางทีวี

“พี่คิดว่าหม่อมน้อยเข้าใจพี่ พี่ก็เข้าใจเค้า ต่างคนต่างเข้าใจซึ่งกันและกันเนี่ยความหนักใจมันจะไม่เกิด เรามั่นใจในทีมงาน เรามีทีมเวิร์คซึ่งถือว่าเยี่ยมที่สุดเท่าที่พี่ทำหนังมานะ โปรดักชั่นของหม่อมน้อย (ม.ล.พันธ์เทวนพ เทวกุล) เป็นโปรดักชั่นซึ่งทำตามแบบระบบของฝรั่งเลย คือ เค้าใช้ระบบคอลชีท การนัดกันแบบฝรั่ง การทำงานกันแบบฝรั่งหมด”

การออกแบบสถานที่แต่ละแห่ง คุณพัฒน์ทริกก็ต้องทำการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งคือการออกแบบประตูชัย ซึ่งเป็นโลเคชั่นสำคัญในการถ่ายทำ “มันมีแฟคอยู่ที่ว่า ลักษณะจริงของประตูชัยในโบราณ เรามีรูปที่ภาพเขียนผนังสมัยโบราณนะครับ มันก็จะมีประตูชัย มีประตูเข้าคลอง แล้วก็มีป้อม 3 สิ่งนี้คือองค์ประกอบหลัก เพราะฉะนั้น ตอนดีไซน์เราก็ต้องหาทางที่โลเคชั่นมันประมาณนี้ ตอนเปิดเรื่อง หลวงยกกระบัตรขี่ม้าเข้าเมือง ตรงที่ผ่านเนี่ยมันเป็นแบบชุมชนตามประวัติศาสตร์ เป็นแบบชุมชนแบบสากล งั้นพอเราได้ที่เหล่านี้แล้วเราก็มองไปลึกว่า พอทางที่ขึ้นมามันจะต้องเป็นทางซึ่งผ่านตลาด ตลาดนัดต่างๆ ผ่านคลังสินค้าฝรั่ง เราก็จะใช้การเชื่อมต่อระหว่างตลาดบกที่เมืองโบราณ ขี่ม้า สมมุติการเชื่อมต่อตลาดบกก็จะมาโผล่ที่ตลาดประตูชัยอันนี้ พี่ก็ออกแบบไปหลายๆ อย่าง ก็ต้องคุยกับหม่อมน้อย พอลงแล้วเนี่ยก็ต้องทำโมเดลมาให้เห็น เป็นโมเดลทางประตูชัยมีป้อมมีคลองมีแม่น้ำ แล้วก็จนตกลงหาผู้รับเหมาที่จะมาทำ ก็ได้ผู้รับเหมาก็คือ จากบริษัทมุมฉาก คุณอุดม ซึ่งแกทำฉากภาพยนตร์ต่างประเทศมาตลอด”

“ภาพยนตร์ชุดนี้พี่คิดว่า ในด้านความงามหรือในด้านการกำกับตัวแสดงหรือความสนุก ผมว่าเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว แต่ว่ามันมีอยู่อีกอันนึง คือ ข้อคิดใหม่ที่พี่หม่อมนำไปเสนออันนี้น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่เรา เราน่าจะได้อะไรจากความคิดใหม่ ในการตีความการเสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้แบบ ตีความด้วยนักวิชาการสมัยใหม่ ขอให้เข้าไปดูจุดนี้กันด้วยแล้วจะรู้สึกว่า เราจะรักประเทศนี้ขึ้นอีกหลายเท่าตัวครับ”

ติดตามชมภาพยนตร์ซีรีส์ศรีอโยธยา 5 ธันวาคมนี้ ทางทรูโฟร์ยูช่อง 24, True Thai Film HD ช่อง 236, True Film Asia HD ช่อง 237 และ True Asian Series ช่อง 239

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก TrueLakorn

ชมทีวีออนไลน์ช่องทรูโฟร์ยู ดิจิตอล ฟรีทีวี แบบสดๆ ได้ที่นี่

อัพเดทชีวิตคนดัง ครบครันเรื่องบันเทิง เพลิดเพลินไปกับบทละคร

ติดตาม Dara.trueid.net ได้อีกช่องทางที่

 


และ แอพพลิเคชั่น 


TrueID Application

Add friend ที่ ID : @TrueID