รีเซต

ได้เวลาแก้เงื่อน!! คลาย 3 ปมคาใจ จุดต้องสงสัยในละคร นาคี

ได้เวลาแก้เงื่อน!! คลาย 3 ปมคาใจ จุดต้องสงสัยในละคร นาคี
Entertainment Report_1
4 ตุลาคม 2559 ( 15:30 )
59.6K

เข้มข้นน่าติดตามจริงๆ สำหรับเรื่องราวลึกลับ ในละครนาคี ที่ตอนนี้กำลังคลายปมผ่านเรื่องเล่า โดย เจ้าแม่นาคีกำลังนำพาทุกคนย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของความรักและกำเนิดของตำนาน จากการเล่าเรื่องราวผ่านดวงจิตในร่าง คำแก้ว (แต้ว ณฐพร) หญิงสาวที่เกิดมาพร้อมความลับที่ติดตัวมา งานนี้นางเอกสาวแต้วต้องรับบทหนัก เพราะนอกจากจะต้องเรียนรู้เรื่องบทบาทของตัวละครและถ่ายทอดเรื่องราวออกมาแล้วนั้น ยังต้องเรียนรู้เรื่องภาษาอีสานที่ใช้สื่อสารตลอดทั้งเรื่องอีกด้วย
(อ่านบทละคร นาคี ก่อนใคร>> http://dara.truelife.com/novel/183574 )

ด้วยความลงตัวและกลมกล่อมตามฉบับค่ายแอคอาร์ทของผู้กำกับ  อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ นั้น นาคี” จึงเป็นละครที่ถูกจับตามองของคนดู ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไรต่อ อีกทั้งละครยังคลายปมข้อสงสัยต่างๆ ออกมาได้อย่างน่าติดตามจนไม่อยากพลาดเลยสักตอนเดียว ด้วยความที่ละครเรื่องนี้เป็นละครที่เต็มไปด้วยตำนาน เรื่องเล่า พร้อมแฝงเกร็ดประวัติศาสตร์ไว้อย่างมากมาย จึงกลายเป็นที่สนใจของผู้คนทุกแขนง ล่าสุด อาจารย์ธเนศ เวศร์ภาดา จาก คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ออกมาเผยข้อมูลน่าสนใจของละครนาคี จากมุมมองนักวรรณคดี โดยการมาชำแหละ เฉลยข้อสงสัย 3 เรื่อง ที่คาใจคนดู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้คำว่า คู่คอง ทำไมไม่เป็น คู่ครอง แหวนพิรอดมาจากไหน ตำนานเปตรงูเป็นอย่างไร  ซึ่งอาจารย์ธเนศ ได้กล่าวว่า

ตรี อภิรุม ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้คงได้ยินได้ฟัง แล้วนำมาผสมผสานกับจินตนาการสร้างพล็อตเรื่องขึ้นใหม่ดูสองตอนแรก ก็มีเรื่องให้ชวนคุยอยู่ 3 เรื่อง”

1. แหวนพิรอด
ในเนื้อเรื่อง พระธุดงค์รูปหนึ่งให้แหวนพิรอดแก่ไอ้เคน พ่อของคำแก้ว บอกว่าไว้กันงูเงี้ยวเขี้ยวขอ
แหวนพิรอด คือ?
เครื่องรางในสมัยโบราณที่นิยมกันมากในหมู่ผู้ชายชาตรี แหวนพิรอดแต่เดิมนั้นหาได้ไม่ยากนักมีอยู่ถมไปตามสำนักต่างๆ แหวนพิรอดมี 2  ชนิด คือ  พิรอดนิ้ว คือ แหวนพิรอด และ พิรอดแขน คือ สนับแขน  ซึ่งคนโบราณส่วนมาก ใช้ขนหางช้าง งาช้าง หรือหางสัตว์ ถักสานเป็นเงื่อนพิรอด หลายคนรู้จักแหวนพิรอดอยู่แล้ว แต่คำนี้มีที่มาอย่างไร  ค้นในเว็บ พบว่า พิรอด มาจากคำยืมภาษาสันสกฤตว่า วิรุทธ หรือ พิรุทธ แปลว่า อันขัดกันอยู่ อันได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง อันตรงกันข้าม ที่ว่าขัดกันอยู่หรือตรงกันข้าม คงมาจากการถักแหวนที่ต้องผูกเงื่อนขัดกันแบบเงื่อนลูกเสือ

ด้วยความที่ชื่อ “พิรอด” คำว่า “รอด” มีความหมายนัยประหวัดถึงการรอดพ้น จึงถือกันว่าแหวนพิรอดช่วยให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรูภัยพาลทั้งปวง ไม่ได้เฉพาะป้องกันภัยจากงูเงี้ยวเขี้ยวขอเท่านั้น เครื่องรางของขลังที่ป้องกันงูโดยเฉพาะมีอื่นๆอีก ที่รู้แน่ๆ คือ มรกตนาคสวาทกับครุธิกานต์ แก้วมณีสองอย่างนี้มีตำนานผูกโยงกับเรื่องครุฑกับนาค ในบทความเรื่อง “ครุฑยุดนาค” ครูศักดิ์ศรี แย้มนัดดาเขียนเล่าไว้ว่า ขณะที่ครุฑกินนาค ครุฑจับหางนาคให้หัวห้อยลง แล้วกระตุกหางเขย่าจนหินที่นาคกลืนเข้าเพื่อถ่วงตัวให้หนักหลุดออกมา แล้วฉีกกินเนื้อและมันที่พุงของนาคเป็นอาหาร นาคเมื่อรู้ตัวว่าจะตาย ก็ “กระอักโลหิตตกลงยังแผ่นดินกลายเป็นมรกตชนิดหนึ่งเรียกว่ามรกตนาคสวาท กระอักครั้งที่สองเป็นน้ำลายตกลงบนแผ่นดินกลายเป็นแก้วมณีชนิดหนึ่งเรียกว่าครุธิกานต์ มรกตนาคสวาทและครุธิกานต์ โบราณถือว่ากันและแก้พิษเขี้ยวงาได้อย่างดี” เรื่องนาคี ตัวละครเป็นชาวบ้าน ฉากท้องเรื่องเป็นท้องถิ่น ใช้แหวนพิรอดที่ทำด้วยด้ายดิบหยาบๆ เป็นเครื่องรางป้องกันงู

2. เปรตงู
ฉากที่รัตนาวดีหายตัวไป คำแก้วเกิดนิมิตว่าถูกตัวอะไรอุ้มไป ตื่นขึ้นมา นางอุทานว่า “เปรตงู” ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับงู บริวารของเจ้าแม่นาคี เพราะมีฉากย้อนอดีตว่าชาติก่อนรัตนาวดีเคยตีงูตัวนี้ตาย งูตัวนี้เลยมากลายเป็นเปรตงู รอเวลาแก้แค้นในชาตินี้ และต้องการวิญญาณของรัตนาวดีเป็นตัวตายตัวแทน เปรตงูจะได้ไปผุดไปเกิด แต่ฉากต่อมา เมื่อคำแก้วตามมาช่วย ร่างทิพย์ของคำแก้วกลายร่างเป็นเจ้าแม่นาคีลุกขึ้นมาสู้กับเปรตงู  อ้าว!! แสดงว่าคนละพวก

เปรตงูคืออะไร

ในทางพุทธศาสนา เปรตมีหลายจำพวก มีจำพวกหนึ่งเรียก “อชครเปรต” หรือเรียก “อหิเปรต” คือ เปรตที่มีร่างกายราวกับงูเหลือม มีหัวเป็นคน มีตัวเป็นงู ยาวประมาณ 25 โยชน์ มีเปลวไฟลุกตั้งขึ้นจากหัวลามถึงหาง จากหางลามถึงหัว ลุกตรงกลางตัวลามไปทั้งสองข้าง ลุกจากสองข้างลำตัวโหมเข้าหาตรงกลาง

อชครเปรต มีเรื่องเล่าว่าโจรผู้หนึ่งผูกอาฆาตเศรษฐีชื่อสุมงคล ที่กล่าววาจาดูแคลนตนโดยไม่ตั้งใจ จึงเผานาของเศรษฐี 7 ครั้ง ตัดเท้าโคทั้งหลายในคอก 7 ครั้ง เผาเรือนอีก 7 ครั้ง เศรษฐีก็ไม่โกรธ เมื่อรู้ว่าสิ่งที่เศรษฐีรักมากคือพระคันธกุฎีที่สร้างอุทิศแด่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงลอบเผาพระคันธกุฎีจนวายวอด เศรษฐีก็ไม่นึกโกรธ กลับดีใจที่จะได้ทำบุญใหญ่สร้างพระคันธกุฎีหลังใหม่ถวายอีกครั้ง และอุทิศกุศลให้แก่ผู้ที่คิดร้ายแก่ตนซึ่งก็คือโจรที่กำลังจะลอบฆ่า เมื่อโจรได้ยินคำแผ่กุศลให้ตน จึงละอายแก่ใจ เข้าไปขอสารภาพและลุแก่โทษ เศรษฐียกโทษให้ เมื่อโจรสิ้นอายุขัย รับกรรมในอเวจีจนสิ้น ด้วยวิบากกรรมยังเหลือ จึงเกิดเป็น “อชครเปรต” ถูกไฟไหม้เร่าร้อนต่อไป

ส่วนอหิเปรต มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองพาราณสี เมื่อผู้คนจะไปสักการะพระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมเดินย่ำไปทางที่เป็นนาข้าวของชาวนาคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะห้ามหรือขอร้องอย่างไร ก็ไม่สำเร็จ ชาวนาเกิดความคิดว่าถ้าไม่มีบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้คนก็จะไม่เดินผ่านที่นาของตน คิดได้ดังนี้ก็ลอบเผาบรรณศาลานั้นเสีย ชาวนาถูกผู้คนรุมประชาทัณฑ์ถึงแก่ชีวิต ไปเกิดในอเวจีนรกจนแผ่นดินหนาขึ้นหนึ่งโยชน์ แล้วไปเสวยวิบากกรรมที่เหลือเป็น “อหิเปรต” แม้จะมีเรื่องเล่าต่างกัน แต่จุดร่วมกันคือผู้ที่ทำบาปด้วยการเผาที่อยู่ของสงฆ์นั้นจะเกิดเป็น “เปรตงู” มีหัวเป็นคน ตัวเป็นงู มีไฟลุกท่วมทั่วตัว

3. คำว่า คู่คอง-คู่ครอง
เพลงนำละครเรื่อง นาคี ชื่อ คู่คอง ก้อง ห้วยไร่ เป็นผู้เขียนคำร้องและทำนอง และเป็นผู้ร้อง (ก้อง ห้วยไร่ จับไมค์ร้องเพลง คู่คองประกอบละคร นาคี >> http://music.truelife.com/detail/31592)
คำถามคือ คู่คอง เขียนถูกหรือเปล่า หรือเขียนอย่างนี้ ให้แปลว่า คู่ครอง เพราะภาษาถิ่นไม่ค่อยมีเสียงควบกล้ำ  แต่ในเนื้อเพลงท่อนหนึ่ง ใช้คำว่า “คู่ครอง” ว่า
“เมื่อสวรรค์แยกกายเฮาสอง จากคู่ครองเป็นคนอื่นไกล”
ถ้าในเนื้อเพลงมีคำว่า คู่ครอง ทำไมชื่อเพลงไม่เขียนให้ตรงกัน หรือว่า คู่คอง มีความหมายอื่นในภาษาถิ่นอีสาน มีคำว่า ฮีตคอง หรือ ฮีตสิบสองคองสิบสี่  ฮีต คือ จารีต , คอง คือคลองหรือครรลอง  ฮีตคอง คือ สิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามและแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างบุคคล ผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ ชาวบ้าน เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง

คอง ยังมีความหมายว่า รอ, คอย, ตั้งหน้าตั้งตารอ เช่น อ้ายสิมาหาน้องบ่มื้ออื่น ถ้าบ่มา น้องกะสิบ่คองทาง แปลว่า พี่จะมาหาน้องไหม พรุ่งนี้ ถ้าไม่มา น้องจะได้ไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตารอ”
ในเนื้อเพลงท่อนสุดท้าย มีคำว่า คองถ่า ดังนี้
“ให้คองถ่าอีกกี่พันปี ให้อยู่ตรงนี้อีกนานเท่าไหร่
ขอเพียงแค่ เธอจำฉันได้ ชาติไหนก็รอเธอ”
คองถ่า ในที่นี้คือ คอยท่า
ถ้าเช่นนั้น ชื่อเพลง คู่คอง ก็น่าจะมีความหมายว่า คู่ที่ต้องรอคอยกันนานแสนนานจึงจะได้มาพบกัน ในละคร เจ้าแม่นาคีย้ำประโยคนี้บ่อยว่า “เราอยู่ที่นี่ รอท่าน (ชัยสิงห์) มานานมาก”

อ่านข้อมูลจากมุมมองของ อาจารย์ธเนศ เวศร์ภาดา ทำให้คลายปมข้อสงสัยคาใจไปได้มาก ติดตามเรื่องราวความเชื่อลี้ลับและความปริศนาต่างๆ เพิ่มเติมได้ ในละคร นาคี  ทุกวันจันทร์อังคาร เวลา 20.20. ทางช่อง 3

ขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์ธเนศ เวศร์ภาดา

https://www.facebook.com/vdhanate

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร นาคี ช่อง 3 และ  ขอบคุณภาพจาก เพจ ก้อง ห้วยไร่

อัพเดทชีวิตคนดัง ครบครันเรื่องบันเทิง เพลิดเพลินไปกับบทละคร
เรียบเรียงข้อมูลโดยทีมงาน dara.truelife.com