รีเซต

ข้าบดินทร์ ชวนค้น ประวัติคชศาสตร์ ตำนานช้างไทย

ข้าบดินทร์ ชวนค้น ประวัติคชศาสตร์ ตำนานช้างไทย
3 มิถุนายน 2558 ( 17:54 )
11.4K

เรียบเรียงข้อมูลโดย ทีมงาน Truelife.com

               ละครน้ำดีที่ค่ายทีวีซีน ทุ่มเวลาเกือบ 9 เดือนในการถ่ายทำ โดยผู้จัดคนเก่ง พี่ปิ่น ณัฐนันท์ ฉวีวงษ์ ไม่ยอมพลาดกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ละครข้าบดินทร์ที่ออกฉายเพียงไม่กี่ตอน กับถูกพูดถึงในแง่มุมของใส่ใจและความความประณีตในการนำเสนอเนื้อหา

              ข้าบดินทร์ เป็นนวนิยายไทย โดย วรรณวรรธน์ มีเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จากการศึกษาค้นคว้าของผู้ประพันธ์ นอกจากเนื้อหาเรื่องการรบและความรักแล้ว ยังจะเน้นให้คนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ วิชา “คชศาสตร์” ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์ของคนไทยที่ว่าด้วยการบังคับช้าง เรียนรู้ช้าง ในฐานะของมนุษย์กับช้าง ไม่ใช่ลักษณะของสัตว์เลี้ยง หรือ สัตว์ป่า แต่เป็นตำราและศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาธรรมชาติของช้างไว้อย่างครบถ้วน การควบคุมช้าง เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ตั้งแต่พระราชพาหนะ จนถึงระดับช้างที่ไม่ควรเอาไว้ใกล้ตัวมนุษย์

                โดยก่อนจะเริ่มถ่ายทำฉากที่ต้องเข้ากับช้าง ทางผู้จัด ค่าย ทีวีซีนได้นำทีมงานและนักแสดง ไปทำพิธีไหว้ศาลปะกำ และเครื่องรางของขลัง ซึ่งช้างสำคัญในละครเรื่องนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 เชือก คือ พังโต ช้างประจำตัวของ เหม (เจมส์ มาร์) และ พลายสังข์ ช้างป่า ซึ่งเป็นที่หมายปองของเหมในการเดินทางเข้าป่า ในเรื่องระบุว่า เป็นพลายอ้อมจักรวาฬ (มีคชลักษณ์ของช้างนักรบ) จากงาที่สวนอ้อมเข้าหากันจึงเปรียบชื่อให้เป็นพลายอ้อมจักรวาฬ 

 

 คชศาสตร์ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องคือ คชลักษณ์ และ คชกรรม 

                คชลักษณ์ ว่าด้วยลักษณะช้าง เรื่องนี้ก็ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับวงศ์ของช้างลักษณะช้างเผือก คู่พระบารมี เพื่อทำความเข้าใจ ธรรมชาติของช้างแต่ละลักษณะ ความฉลาดปราดเปรื่อง ที่สามารถนำมาฝึกฝนอยู่ปะปนกับมนุษย์ได้ หรือบางลักษณะต้องปล่อยให้อยู่ในป่าไป อย่าเอามาไว้ใกล้มนุษย์

              ในที่นี้หมายถึงช้างที่มีลักษณะครบถ้วนถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ที่สืบสานกันมายาวนาน อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ช้างมงคล ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้คุณต่อบ้านเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะช้างที่มีลักษณะพิเศษเป็นมงคล หรือที่เรียกว่า ช้างเผือกหากใครได้เป็นเจ้าของ ก็จะส่งให้ผู้เป็นเจ้าของพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง

 

                ช้างเผือกจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงได้ไว้ก็จะหวงแหน และประกอบราชพิธีขึ้นระวางสมโภชเป็นพระยาช้างต้น มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือพระยา แต่ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับตระกูล (ลักษณะ) ของช้างเผือกนั้นๆ ด้วย ถึงกระนั้น ช้างเผือกก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีสีผิวกายเป็นสีขาวเพียงอย่างเดียวและไม่ได้หมายถึงว่า ช้างเผือกจะต้องเกิดมาจากท้องที่มีพ่อแม่เป็นช้างเผือกเท่านั้น ซึ่งตามคัมภีร์ พระคชศาสตร์ หรือตำรา คชลักษณ์ เชื่อว่า ช้างเผือก เป็นช้างที่เทพชั้นสูงหรือมหาเทพประทานมาให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรม หากพระองค์ใดมีช้างเผือกมาก จะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีพระบารมีแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ และเป็นที่ยำเกรงต่ออริราชศัตรู รวมไปถึงมิตรประเทศ

             ลักษณะช้างดีช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทั้งยังมีลักษณะเป็นการเฉพาะของช้างมงคลแต่ละประเภทด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของอวัยวะส่วนต่างๆ แม้แต่สีผิวหนังก็ยังถูกแบ่งออกเป็นสิบๆ สี ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นที่จดจำได้ยาก ดังนั้นตำราคชลักษณ์จึงถูกค้นพบมากกว่าตำราคชกรรมก็เพราะมีจำนวนมากกว่านั่นเอง โดยตำราคชลักษณ์น่าจะมีลักษณะของการเป็นหนังสือคู่มือเพื่อตรวจสอบกับลักษณะของช้าง แต่ช้างมงคลถูกแบ่งไว้อย่างกว้างๆ 4ตระกูลด้วยกัน ตามชื่อของเทวดาที่เป็นผู้สร้างช้างนั้นๆ

 

              โดยเว็ปไซต์ไทยรัฐได้สรุปพอสังเขปเกี่ยวกับ ตำราคชศาสตร์ ที่ปรากฏในคัมภีร์ของพราหมณ์จารึกถึงตำนาน พระพรหมธาดา หรือพระเจ้าผู้สร้างโลก ได้ว่า พระนารายณ์เสด็จลงมายังพิภพ แต่ไม่มีที่ประทับ เพราะไม่มีแผ่นดิน มีแต่มหาสมุทร จึงประทับบนหลังพระยาอนันตนาคราชในอีกพิภพหนึ่งแทน และต่อมาก็ทรงเนรมิตดอกบัวผุดตรงพระนาภี(สะดือ) ตำนานของผู้สร้างโลกว่าไว้ ดอกบัวนั้น ก็คือ โลกมนุษย์ของเรานั้นเอง

               หลังจากที่เนรมิตดอกบัวเป็นโลกแล้ว พระนารายณ์ทรงแบ่งกลีบและเกสรดอกบัวเป็น 4 ส่วน นำไปถวายพระพรหม พระอิศวร พระวิศนุ และพระอัคนี ต่อมา พระมหาเทพทั้ง 4 ก็ทรงเนรมิตให้เป็นช้างจากกลีบและเกสรบัวนั้นๆ จึงเป็นที่มาของช้างมงคล แบ่งออกเป็น 4 ตระกูล คือ

 

             1. พรหมพงศ์ หมายถึงช้างเผือกตระกูลที่พระพรหมเนรมิต มักเนื้อหนังอ่อนนุ่ม หน้าใหญ่ ท้ายต่ำ ขนอ่อนละเอียด เส้นเรียบ ขึ้นขุมละ 2 เส้น สีขาว โขมดสูง คิ้วสูง น้ำเต้าแฝด มีกระเต็มตัว ขนที่หลังหู ปาก ขอบตามีสีขาว อกใหญ่ งาสีเหลือง เรียวรัดงดงาม มีทั้งหมด 10 หมู่ ที่โดดเด่นที่สุดคือ ฉัททันต์ ผิวกายขาวดั่งเงินยวง งาสีเงินยวง อุโบสถ ขนและงาสีทองเป็นช้างแห่งอายุยืนยง สูงส่งด้วยวิทยาการ ในชาดกกล่าวถึง พระพุทธเจ้าครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ในชาติภพที่เป็นช้างเผือกจะถือกำเนิดเป็น พระยาฉัททันต์ หรือพระอุโบสถแค่ 2 ประเภทนี้เท่านั้น

             2. อิศวรพงศ์ หมายถึง ช้างเผือกตระกูลที่พระอิศวรเนรมิต ผิวกายดำสนิท งาอวบ งอนเสมอกันทั้งสองข้าง เท้าใหญ่ น้ำเต้ากลม คอย่น ขณะเยื้องย่าง อกใหญ่ หน้าเชิด แยกเป็น 8 หมู่ ที่โดดเด่นที่สุด คือ อ้อมจักรวาล มีงาขวางามกว่างาซ้าย อ้อมโอบงวง และกัณฑ์หัตถ์งาซ้ายจะยาวกว่างาขวา อ้อมโอบงวงเช่นกัน เป็นช้างแห่งความสุข และเจริญด้วยทรัพย์สินและอำนาจ

 

             3. วิษณุพงศ์ หมายถึง ช้างเผือกตระกูลที่พระวิษณุเนรมิต ผิวหนา ขนหนา เกรียน สีทองแดง อก คอ คางใหญ่ หางยาว งวงยาว หน้าใหญ่ นัยน์ตาขุ่น หลังราบ แยกเป็น 6 หมู่ ที่โดดเด่นที่สุด คือ สังขทันต์ มีงาอวบเรียวเหมือนสังข์ร้องได้ 2 เสียง ตอนเช้าเป็นเสียเสือ ตกเย็นเป็นเสียงไก่ขัน และดามหัสดินทร์ มีกายสีทองแดง เป็นช้างแห่งชัยชนะ พลาหาร ธัญญาหาร และน้ำฝนจะอุดมสมบูรณ์

            4. อัคนีพงศ์ หมายถึง ช้างเผือกตระกูลที่พระอัคนีเนรมิต ท่วงทีงดงาม เดินเชิดงวง อกใหญ่ งาทั้งสองโค้งพอจรดกัน สีเหลืองจนสีขาวปนแดง ผิวกลายคล้ายสีใบตองตากแห้ง แยกเป็น 42 หมู่ ที่น่าสังเกต คือ ช้างที่มีผิวกายประหลาดแต่ ตกชั้น หรือขาดคชลักษณ์สำคัญอื่นๆ จะอยู่ในตระกูลนี้ด้วย หากได้ขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญ ผิวกายจะปกติ แต่รูปร่างปราดเปรียว งาจะอวบสั้น คชลักษณ์งดงามกว่าช้างสามัญธรรมดาทั่วไป ซึ่งก็จัดอยู่ในตระกูลนี้เช่นกัน ส่วนช้างตามคชลักษณ์ที่สองจะเรียกว่า “ช้างเนียม” ในราชพงศาวดารได้รับพระราชทินนามเป็น มณีจักรา ก็อยู่ในตระกูลนี้ โดยช้างตระกูลอัคนีพงศ์ ยังแบ่งเป็นช้างเผือก และช้างเนียม

 

              คชกรรม คือเรื่องเกี่ยวกับวิชาการฝึกสัตว์ใหญ่ การคล้องช้าง การฝึกบำรูงงา หมอช้าง ตำราว่าด้วยพิธีกรรมเพื่อให้มนุษย์สองขาสองแขนสามารถกำหราบช้าง ที่มีลักษณะใหญ่โตกว่ามนุษย์ ด้วยกระบวนการใกล้เคียงธรรมชาติ และละมุนละม่อมมากกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์

              ซึ่งละครข้าบดินทร์ได้ให้ความสำคัญกับช้าง ซึ่งถือเป็นเพื่อนเคียงข้างกายพระเอกในเรื่องตลอดเวลา และยังให้ความสำคัญถึงรายละเอียดในเรื่องประวัติศาสตร์ต่างๆ ไว้อีกมากมาย ติดตามชมบทบาทความสัมพันธ์ของคนกับช้างในสมัยอดีตกาลได้ในละครข้าบดินทร์ทางช่อง 3 



ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก http://www.thairath.co.th/ และ สมาชิก Kwanmanee จาก http://pantip.com/

ช่อง 3ช่อง 3 Familyช่อง 3 SDช่อง 3 HD


 

ติดตามข่าวสารบันเทิงทีวีได้อีกช่องทาง
     Facebook.com/TVSociety